ความรักจะเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบหลักสองประการ
ตอบตามหลักการทาง พุ ท ธ ความรักจะเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบหลักสองประการ หนึ่งคือเคยอยู่ร่วมกันในกาลก่อน สองคือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน เมื่อจับหลักอย่างนี้ก็สามารถเทียบเคียงกับภาคสนามได้ง่ายหน่อย คือเมื่อพบคนที่คุณ ‘สามารถรักได้’ ควรจะเกิดอาการต่างๆต่อไปนี้
1. ความรู้สึกคุ้นเคยกันอย่างรวดเร็ว
เหมือนรู้จักมักคุ้นอยู่ก่อน และพูดคุยสนิทสนมได้ง่าย เหมือนระบายได้ทุกเรื่อง นั่นเป็นวิบากของการอยู่ร่วมกันมานาน ก่อแรงดึงดูดเข้าหากัน อยู่ใกล้แล้วไม่รำคาญ แม้เหงาก็อบอุ่นเป็นสุขได้เพียงเมื่อคิดถึง และเท่าที่พบมา ต่อให้ธาตุนิสัยต่างกันเป็นตรงข้าม เช่น ใจร้อนกับใจเย็นมาเจอกัน ก็ไม่รู้สึกแปลกแยกต่อกัน ขอเพียงมีบุพเพสันนิวาสมาช่วย
การสำรวจใจด้วยเกณฑ์ข้อนี้ อย่างง่ายก็อาจลองจินตนาการดูว่าถ้าต้องไปอยู่กระต๊อบกับใครสักคน แล้วรู้สึกว่ารับได้ไหม เป็นไปได้ไหม หากสนิทใจพอ หรือกระทั่งนึกครึ้มคึกคักต่อยอด อยากหนีไปอยู่เกาะตามลำพังสองคน อันนั้นถือว่าผ่านมาตรฐานเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ความรักที่แท้ต้องการความจริงเป็นเครื่องรับรอง ไม่ใช่แค่จินตนาการหรือฝันกลางวันเล่นๆ หากมีโอกาสร่วมสถานการณ์ลำบาก อยู่ในที่ที่ขาดความสุขสบาย แล้วยังรู้สึกดีกับการอยู่ร่วมกันได้ อันนั้นถือเป็นบทพิสูจน์ครับว่าเคย ‘อยู่ร่วมกันด้วยดี’ มาอย่างแน่นอน
2. ความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย
คืออยากช่วยเหลือ อยากดูแล มีความเอาใจใส่โดยไม่ต้องฝืน นั่นเป็นเพราะเหตุที่เคยช่วยเหลือดูแลกันมาก่อน ย่อมชวนให้ผูกพันไยดี เท่าที่พบมา แม้ฝ่ายหนึ่งได้ชื่อว่าเห็นแก่ตัว ไม่เอาใคร แต่ก็เต็มใจเสียสละให้กับคู่บุญเก่าได้ เมื่อคอยเข้าไปดูแลสารทุกข์สุกดิบ ก็ได้ชื่อว่าปัจจุบันสร้างเหตุแห่งความรักไว้แล้ว
การสำรวจใจตนเองด้วยเกณฑ์ข้อนี้ ก็ขอให้รอดูเหตุการณ์จริง วัดใจกันในยามยาก หากเขาต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ คุณเต็มใจแค่ไหน กระตือรือร้นในการช่วยปัดเป่าเท่ากับหรือยิ่งกว่าปัญหาของตัวเองไหม ถ้าจะวัดใจให้สมบูรณ์แบบ ต้องดูทั้งสองฝ่ายนะครับ ไม่ใช่ฝ่ายเดียว การอยากอยู่ใกล้ การอยากดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน เป็นเครื่องชี้ชัดว่า ‘ร่วมบุญ’ กันมาจริง ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ‘ติดหนี้’ แค่ข้างเดียว
นอกจากนั้นต้องคำนึงด้วยว่าชีวิตหนึ่งๆเราอาจร่วมชาติร่วมชายคา กับใครได้มากกว่าหนึ่ง (แถมบางรายร่วมได้ทั้งสอง) ฉะนั้นก็อย่าแปลกใจหากคุณ ‘ปิ๊ง’ และ ‘เอาใจใส่’ ใครต่อใครได้หลายคน
โลกเต็มไปด้วยตัวเลือก โดยมีข้อจำกัดทางศีลธรรมว่าต้องเลือกอยู่กับใครคนหนึ่งเพียงคนเดียว ฉะนั้นหากต้องการสำรวจใจว่ารักใครที่สุด ก็ให้ดูว่าใจคุณ ‘อยากเลือก’ อยู่กับใครมากที่สุด …แน่นอนว่าด้วยความจำเป็นบางประการ อาจทำให้คุณต้องเลือกอยู่กับคนที่รักน้อยและตัดใจจากคนที่รักมาก นั่นก็เป็นเครื่องชี้ได้อย่างหนึ่งว่าแม้ทำบุญร่วมกันมาพอจะให้แสนรัก แต่ก็อาจมีบาปเก่าหรือบาปใหม่บางอย่างมาขวางไว้ไม่ให้สมหวัง เข้าทำนอง ‘รักมากแต่ไม่อยากอยู่ด้วย’ นั่นเอง