แฟนใหม่เหมือนแฟนเก่า ทำไมเราถึงได้ดึงดูดแต่คนนิสัยเดิมๆ เป็นเรื่องบังเอิญหรือเราจงใจหาให้ได้แบบนั้นกันแน่ ถ้าสาวๆ คนไหนเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องรีบมาอ่านกันด่วนๆ
เวลาที่เพื่อนสาวของเรามีความรักครั้งใหม่ เคยสังเกตกันไหมว่าผู้ชายคนใหม่ของเธอจะมีหน้าตาหรือนิสัยเหมือนแฟนเก่าที่เคยคบไม่มีผิด แล้วมาคิดถึงตัวเราเองบ้างก็ไม่ต่างนักด้วยหลายคนชอบทักว่า แฟนใหม่เหมือนแฟนเก่า ทั้งๆ ที่เราก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่คุยกับคนแบบเดิม เพราะกลัวจะจบไม่สวยอย่างที่ผ่านมา
ถ้าสาวๆ เคยเจอเรื่องราวแบบนี้มาก่อนแล้วก็ไม่ต้องแปลกใจ เนื่องจากผลวิจัยได้เผยออกมาแล้วว่า คนเรามักจะตกหลุมรักคนนิสัยเดิมๆ แบบซ้ำๆ โดยที่ไม่รู้ตัว เป็นแบบนี้ได้อย่างไร ตามมาอ่านผลวิจัยที่เรานำมาฝากกันได้เลยค่ะ
จากงานวิจัยของ Geoff MacDonald และคณะที่ได้ทำการสำรวจกลุ่มบุคคลทั้ง 332 คน ด้วยวิธีทำแบบสอบถามและติดตามชีวิตรักของพวกเขาตลอด 9 ปี พบว่า พวกเขาส่วนใหญ่จะเลือกคบกับคนที่มีบุคลิกหรือลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับแฟนเก่าแบบไม่รู้ตัว เช่น หากแฟนเก่าเป็นวิศวกร แฟนใหม่ก็จะมีสายงานเกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรม, แฟนเก่าและแฟนใหม่เป็นคนเจ้าชู้เหมือนกัน หรือเป็นคนที่มีนิสัยเงียบๆ คล้ายกัน ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะหน้าที่การงานทำให้ต้องเจอแต่คนบุคลิกแบบนั้น หรือเป็นเพราะไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกันเลยเจอแต่คนแบบเดิมซ้ำๆ นั่นเอง
ซึ่งผลสำรวจและข้อสรุปนี้ก็ตรงกับงานวิจัยจาก Wellesley College และ University of Kansas ที่ทำการสำรวจคู่รัก, คู่เพื่อนสนิท 1,523 คู่ ว่าเขาเหล่านี้มีความเหมือนกันมากแค่ไหนไม่ว่าจะเป็น เรื่องอาหารการกิน การท่องเที่ยว และทัศนคติ ผลปรากฏว่ากว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของพวกเขาเหล่านั้นมีวิถีการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง เลยทำให้พวกเขามาสนิทสนมกันแบบยาวนานได้ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจคู่เพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันใหม่ๆ ตอนเข้ามหาวิทยาลัย พร้อมกับเฝ้าติดตามผลในเวลาต่อมา พบว่ามีเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ยังคบหาเป็นเพื่อนสนิทอยู่ และเมื่อย้อนดูคำตอบที่กลุ่ม 23 เปอร์เซ็นต์นี้เคยตอบเอาไว้ จึงรู้ว่าพวกเขามีความสนใจคล้ายๆ กัน เลยติดต่อทักทายเป็นเพื่อนกันถึงทุกวันนี้
โดยความคล้ายคลึงจนถึงขั้นดึงดูดให้เราคบหาดูใจกับคนนิสัยแบบเดิมซ้ำๆ ได้นั้น สามารถแบ่งออกมาเป็น 5 ข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. มีนิสัยหรือความสนใจคล้ายกัน
การที่คนเราจะดึงดูดแล้วหันมาคบกันอย่างจริงจัง อย่างน้อยต้องมีลักษณะนิสัยและความชอบที่คล้ายคลึงกันก่อน เช่น ต่างคนต่างชอบกินอาหารญี่ปุ่น, ชอบดูหนังแนวโรแมนติก มีอารมณ์ขันและแนวคิดที่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เองจะเป็นตัวยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์นั้นและทำให้คบหากันได้ยาวนานขึ้น
2. ดึงดูดคนที่หน้าตาคล้ายกับเราหรือครอบครัว
ในงานวิจัยปี 2010 ที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin มีการทดลองโดยเอารูปของคนแปลกหน้ามาแต่งให้คล้ายพ่อหรือแม่ของคนที่เข้าทดสอบ รูปอีกใบก็จะใช้ใบหน้าของคนที่ทดสอบมาตัดแต่งเข้าไป รูปสุดท้ายคือ รูปใบเดิมที่ไม่มีการตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้น แล้วให้เลือกว่ารูปใบไหนมีเสน่ห์มากกว่ากัน ผลปรากฏว่า พวกเขาจะเลือกรูปที่มีหน้าตนเองและหน้าของพ่อหรือแม่ให้เป็นคนที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจมากกว่ารูปใบสุดท้าย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพ่อกับแม่คือคนที่เราเห็นและไว้ใจมาตั้งแต่เกิด พอมีใครที่หน้าตาคล้ายพวกท่านจึงดึงดูดให้เรารักได้ ในขณะที่เราก็รักตัวเองมากเช่นกัน จึงเลือกให้รูปที่มีใบหน้าคล้ายตนเป็นคนมีเสน่ห์นั่นเอง
3. การศึกษาระดับเดียวกัน
นอกจากหน้าตาจะเป็นส่วนสำคัญที่ดึงดูดให้คนมารักกันได้แล้ว การศึกษาระดับเดียวหรือใกล้เคียงก็มีส่วนที่ทำให้คนรักกันได้ด้วย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการศึกษาจะหล่อหลอมให้คน 2 คนมีทัศนคติคล้ายคลึงกัน มีอาชีพในสายงานเดียวกัน ทำให้โอกาสที่จะได้ใกล้ชิดพูดคุยกันเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น
4. ฝังใจกับนิสัยของคนบางคน
นิสัยที่ว่านี้ ต้องฝังลึกในใจเรามานานหลายปี มีได้ทั้งข้อดีหรือข้อเสีย เช่น พ่อแม่ดูแลเราอย่างดีและตามใจ เราเลยฝังใจกับคนที่ใจดี, พ่อแม่เป็นคนโมโหร้าย เราก็จะฝังใจกับคนโมโหร้าย รวมถึงเรื่องเจ้าชู้นอกลู่นอกทางของแฟนเก่า ก็ถือว่าเป็นความฝังใจได้เหมือนกัน เมื่อไรก็ตามที่เจอคนนิสัยเหล่านั้น ความฝังใจและความผูกพันที่หลอมรวมกันจนแยกไม่ออก จะดึงดูดให้เข้าไปคบหาเขาแบบที่เราก็ไม่รู้ตัวเลย
5. อยู่ในสังคมและคบหากลุ่มคนเดียวกัน
คนที่ชอบเที่ยวก็จะเจอกับคนที่ชอบเที่ยวเหมือนกัน คนที่ชอบเล่นกีฬาก็มักจะคบหาคนที่เล่นกีฬาด้วยกัน ต่อให้เลิกกับแฟนคนเดิมไป สุดท้ายสังคมและกิจกรรมที่เราชอบทำก็จะนำพาเราไปเจอคนที่คล้ายแฟนเก่าของเราได้นั่นเอง
ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะดึงดูดแต่คนนิสัยเดิมๆ เข้ามาก็ไม่ได้หมายความว่ารักครั้งนี้ต้องจบลงแบบครั้งเก่าเสมอไป แค่ต้องใช้ความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน พร้อมกับแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นอย่างดี แล้วความรักบทใหม่นี้ก็จะมีตอนจบที่แตกต่างออกไปแน่นอน