ในช่วงชีวิตของคนเรามักมีทั้งความสุข และความเศร้าสลับกันไป เวลาที่มีความสุขก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าเมื่อไหร่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิด และส่งผลต่อสภาพจิตใจจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เมื่อนั้นเรามักจะรู้สึกทรมานยิ่งกว่าการเจ็บป่วยทางกายซะอีก ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงที่เราเกิดการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเสียงาน ผิดหวัง เสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือเสียใจจากคนรัก โดยเฉพาะอย่างหลังก็เป็นปัญหาใหญ่ๆ ที่เชื่อว่าหลายคนต้องเคยผ่าน หรือกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจเมื่อเผชิญกับการสูญเสีย หรือที่เรียกว่า Grief , bereavement , Mourning จะใช้กับภาวะที่มีการสูญเสียคนที่เคยมีความผูกพัน บางครั้งอาจรวมไปถึงสัตว์เลี้ยง รวมทั้งเมื่อต้องเผชิญกับความผิดหวังรูปแบบต่างๆ เช่น ตกงาน สูญเสียสิทธิเสรีภาพ เป็นต้น
ดอกเตอร์ อลิสเบธ คับเบลอร์-รอส (Elizabeth Kubler-Ross) นักจิตวิทยาชาวสวิสแลนด์ ได้ทำการไล่เรียงระยะความนึกคิดและความรู้สึกของบุคคลเมื่อต้องพบเจอกับความรู้สึกผิดหวังและการสูญเสีย โดยขั้นตอนดังกล่าวถูกเรียบเรียงเอาไว้ตั้งแต่ปี 1969 ซึ่งมีทั้งหมด 5 ปฏิกิริยา และแต่ละปฏิกิริยาอาจเกิดแบบไม่มีลำดับ อันไหนจะเกิดก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นครบทุกขั้นตอน แต่สุดท้ายมักลงท้ายด้วย Acceptance หรือการยอมรับเสมอ และแม้จะผ่านขั้นตอนหนึ่งๆแล้ว เราสามารถกลับไปสู่ขั้นตอนนั้นๆได้อีก หรือจะให้พูดก็คือความรู้สึกเหล่านั้น ที่เคยผ่านไปแล้วอาจวนกลับไปกลับมาได้
คนเรามีทั้งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อพบก็ต้องมีจาก การสูญเสียเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ และนี่คือ Five stages of grief หรือปฏิกิริยาตอบสนองปกติของบุคคล หรือครอบครัวเมื่อประสบกับการสูญเสีย ความเศร้าโศก เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากการสูญเสียของ คนรัก หรือผู้ป่วยที่ได้รับข่าวร้าย แบ่งได้เป็น 5 ระยะ
1.Shock and Denial : ปฏิเสธ “ไม่จริง ฝันไปแน่ๆ”
ถ้าเลิกกับแฟนมาใหม่ๆ ช่วงนั้นจะเป็นระยะเวลาที่บุคคลพยายามปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น สมองจะคิดวนๆ อยู่กับคำว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องจริง” นับว่าเป็นกลไกปกป้องของบุคคลที่ต้องเผชิญความจริงที่แสนเจ็บปวด การสูญเสียที่ว่าอาจทำให้มีอาการชา ขาดความรู้สึกไปชั่วขณะ จนไม่สามารถที่จะตั้งสติ ช่วงนี้เราจะไม่ยอมรับว่าสิ่งที่รู้มามันเกิดขึ้นจริง เช่นการคิดว่า “นี่เรายังไม่ได้เลิกกันจริงๆใช่มั้ย” “เราต้องฝันไปแน่ๆ” “โกหกกันรึเปล่า” เป็นต้น
2.Anger : โกรธ “ทำไมต้องเป็นเรา มันไม่ยุติธรรมเลย”
คนที่เพิ่งเลิกกับแฟน หรือพบกับความสูญเสีย มักแสดงความโกรธต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น รู้สึกโกรธโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งแวดล้อม ไม่น่าแปลกใจที่ช่วงนี้เราจะโทษตัวเอง โทษคนอื่น โทษฟ้าฝน โทษทุกอย่าง ที่รู้สึกว่าเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วทำไมต้องมาเกิดกับตัวเอง ทำไมไม่เกิดกับคนอื่น พยายามโทษว่าเป็นความผิดของคนใดคนหนึ่ง หรือเรียกว่าพาลนั่นเอง
3.Bargaining : ต่อรอง “อย่าเพิ่งเลิกกันได้มั้ย”
หลังรับรู้แล้วว่าเลิกกันจริงๆ แต่ในใจยังพยายามมองหาสิ่งต่อรอง เพราะต้องการปลอบใจตัวเอง และยังรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น “อย่าเพิ่งไปตอนนี้ได้มั้ย” “ขอร้องยังไงก็ได้ แต่อย่าเลิกกัน” หรือ “จะปรับปรุงตัวเอง ให้โอกาสอีกครั้งได้มั้ย” หรือแม้กระทั่งการไหว้พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้คนรักกลับมา
4.Depression : ซึมเศร้า “ไม่สน ไม่แคร์”
ช่วงระยะที่มีพฤติกรรมแยกตัว หดหู่ เบื่ออาหาร อยากตาย รู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น เนื่องจากจิตใจรู้สึกไม่สามารถจัดการแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งเป็นความรู้สึกปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ แต่นี่ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ถึงกับต้องพบจิตแพทย์ ช่วงนี้คนส่วนใหญ่จะ ซึมเศร้า ไม่มีเรี่ยวแรง มองโลกในแง่ลบ ไม่รู้สึกหิวข้าว ร่างกายผอม นอนยังไงก็ไม่หลับ คิดถึงเรื่องฆ่าตัวตาย จิตใจว่างเปล่า
5.Acceptance : ยอมรับ “ยอมรับ ก้าวต่อไป”
เป็นระยะที่จิตใจเริ่มกลับสู่สภาพปกติ ยอมรับในการสูญเสีย ส่วนใหญ่แล้วจะต้องใช้เวลา เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกที่เคยทุกข์และอารมณ์เศร้าต่างๆ จะหายไป สติก็จะค่อยๆ กลับมา สุดท้ายก็เริ่มยอมรับถึงผลของมัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในใจลึกๆ จะหายเศร้า ซึ่งแต่ละคนอาจใช้เวลามาถึงจุดนี้ได้แตกต่างกัน บางคนไม่กี่วัน บางคนเป็นปี หรือหลายๆ ปีก็มี
อย่างที่ได้บอกไปตั้งแต่ต้น ว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียในแต่ละระยะ อาจใช้เวลาไม่เท่ากัน และที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับจากระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 5 แต่อาจจะเกิดกลับไปกลับมา หรือบางทีอาจจะเกิดพร้อมกัน หรือเกิดทีละระยะเรียงไปเลยก็ได้ ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะโศกเศร้า โดยเฉพาะถ้าต้องเลิกกับแฟนแล้วล่ะก็ สิ่งหนึ่งคือต้องมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เมื่อเราเข้าใจสภาวะจิตใจของตนเอง ก็จะสามารถผ่านพ้นความเสียใจนั้นไปได้