สมมติฐานที่เคยตั้งไว้ว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างการแต่งงานกับสุขภาพที่ดี ทำให้คนมีคู่สุขภาพดีกว่าคนโสดนั้นอาจไม่เกี่ยวโยงกันเสมอไป โดยการค้นพบล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Social Science Quarterly พบว่า ไม่เกี่ยวกันสักนิด
ถกเถียงกันมานานระหว่างคนมีคู่กับโสดอย่างสุขๆ ว่าการตกล่องปล่องชิ้นกับใครสักคนหรือการอยู่อย่างสันโดษนั้นดีกับสุขภาพกว่ากัน อีกทั้งมีงานวิจัยหลายชิ้นมารองรับฝั่งคนมีคู่ว่า คนที่แต่งงานแล้วมีสุขภาพที่ดีกว่า แต่งานวิจัยชิ้นใหม่บ่งบอกว่าไม่เสมอไปหรอกนะ…
หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า สมมติฐานในรายงานที่เคยกล่าวไว้ที่ว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการแต่งงานกับสุขภาพที่ดีนั้นอาจไม่เกี่ยวกันเสมอไป โดยการค้นพบล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Social Science Quarterly กลับพบว่าไม่เกี่ยวกันสักนิด
จากงานศึกษาที่เขียนโดย ดมิทรี ทูมิน (Dmitry Tumin) นักวิจัยด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต ในสหรัฐอเมริกา เขาค้นพบว่าการแต่งงานมีความสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีขึ้นก็ต่อเมื่อคู่รักอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 10 ปี หรือมากกว่านั้น และที่สำคัญมักเกิดในเพศหญิงเท่านั้น และเขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่าแทบจะไม่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อย
เขาระบุในผลการศึกษาว่า ในบรรดาคู่รักทั้งหมด (ที่เกิดตั้งแต่ปี 1955 ถึง 1984) เมื่อมาสังเกตดูกลุ่มคู่รักที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มที่ศึกษาแล้ว ไม่มีปัจจัยใดที่บอกว่าการแต่งงานทำให้พวกเขาสุขภาพดีขึ้น หรือว่าง่ายๆ คือคนที่โสดก็มีสุขภาพดีเทียบเท่ากับคนที่สวมแหวนนั่นเอง
“มันดูเป็นไปไม่ได้ที่การแต่งงานไม่ว่าจะในรูปแบบใดจะมีผลทางบวกโดยตรงกับสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มคู่รักอายุน้อยขนาดนั้น” ทูมินระบุในผลรายงาน
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายสาเหตุปัจจัยที่แสดงว่าการสมรสไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านสุขภาพ ทุกวันนี้มีคนจำนวนน้อยลงที่ตกลงเดินเข้าพิธีวิวาห์ และยังเป็นกลุ่มคนที่อายุมากกว่ารุ่นก่อนๆ อีกด้วย ขณะนี้ผู้หญิงมีอิสรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจกว่าในอดีต ซึ่งแปลว่าผู้หญิงโสดก็มีความพร้อมที่จะมีที่ชีวิตแข็งแรงสมบูรณ์ และรู้สึกว่าชีวิตเติมเต็มได้แม้จะไร้คู่ก็ตาม นอกเหนือจากนั้นแล้วมีคนอีกจำนวนมากที่หันไปพึ่งแรงสนับสนุนจากเพื่อนข้างเคียงหรือคนนอกในการใช้ชีวิต แทนที่จะเป็นคู่สมรส เช่น เพื่อนร่วมห้อง หรือครอบครัวที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปพร้อมกัน
ทูมินยังเสริมอีกว่าทุกวันนี้ชีวิตแต่งงานกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเครียดยิ่งกว่าแต่ก่อน “ความขัดแย้งในการทำงานและปัญหาครอบครัวมีเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 และระยะเวลาที่คู่สมรสอยู่ด้วยกันก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน” เขายังมองอีกว่า “ชีวิตที่ต้องใช้เวลาไปกับงานเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คู่รักใช้เวลาร่วมกันน้อยลง เป็นผลให้ทุกวันนี้คู่สมรสกลับหนักใจกับการประคองชีวิตคู่เสียมากกว่าจะพบความสุขกับการมีคู่ที่ส่งผลต่อสุขภาพ”
เหมือนกับที่ เบลล่า เดอเปาโล (Bella DePaulo) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันและศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้ศึกษาชีวิตคนโสด เคยบอกไว้ว่า “มันเป็นเรื่องตลกที่ถ้าโสดแล้วชีวิตจะต้องทึนทึกอยู่กับความเศร้า”
ทีนี้คราวหน้าที่โดนทักว่าเมื่อไรจะแต่งงาน คุณก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไปอ้างกับเขาแล้วล่ะ