คนเราเมื่อเกิดมาก็ต้องมีการแต่งงาน มีคู่ครองเพื่อให้มีทายาทสืบเนื่องต่อไป และเพื่อให้โลกใบนี้ยังคงหมุนต่อไป โดยส่วนใหญ่ฝั่งคนมีคู่ ก็จะเยินยอว่าการแต่งงานเป็นเรื่องดี ในขณะที่คนโสด ก็จะให้ความดีความชอบในสถานะไร้คู่มากกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีงานวิจัยเผยออกมาด้วยล่ะว่าการแต่งงานมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว และ GangBeauty ก็มีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ออกมาอีกครั้ง เพื่อแก้ต่างว่าการแต่งงานไม่ได้มีผลดีต่อสุขภาพเสมอไป!
จากการค้นพบล่าสุด ที่มีการตีพิมพ์ลงในวารสาร Social Science Quarterly เป็นการวิจัยและศึกษาจากนักวิจัยด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท ดมิทรี ทูมิน เผยว่าการแต่งงานจะมีความสัมพันธ์กับสุขภาพ ทำให้สุขภาพดีขึ้นก็ต่อเมื่อคู่รักที่อยู่ด้วยกันอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และที่สำคัญ จะมีแค่เพศหญิงเท่านั้นที่สุขภาพร่างกายดีขึ้น แต่ไม่ใช่เพศหญิงที่อายุน้อยแน่นอน
เขาระบุในผลการศึกษาว่าในบรรดาคู่รักทั้งหมดของบุคคลที่เกิดในปีพ.ศ. 2498-2527 (อายุประมาณ 20 ปลายๆ) เมื่อสังเกตจากคู่รักที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่ม ไม่มีปัจจัยใดเลยที่ทำให้การแต่งงานของพวกเขา สร้างสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ว่าง่ายๆ คือฝ่ายหญิงก็ยังมีสุขภาพเท่าเดิม พอกันกับผู้หญิงที่ยังโสดสนิท ไร้แหวนบนนิ้วนางข้างซ้ายแบบที่ผู้ใหญ่ชอบเชื่อกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยมากที่ชี้ชัดว่าการแต่งงานไม่ใช่คำตอบของการมีสุขภาพที่ดี ทุกวันนี้มีคู่รักที่ตกลงเข้าพิธีวิวาห์อยู่น้อยมาก ซ้ำยังไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ซะด้วย ปัจจุบันผู้หญิงมีพลัง มีความแข็งแกร่งมากกว่าแต่ก่อน มีอิสรภาพทางสังคม มีฐานะทางเศรษฐกิจ จึงเป็นผลว่าคนโสดก็มีชีวิตดี๊ดีได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องมีคู่แต่อย่างใด อยู่คนเดียวก็ได้ทำนองนั้น
ทูมินยังเสริมอีกว่าทุกวันนี้ชีวิตแต่งงานกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเครียดกว่าแต่ก่อน เพราะมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายอย่างเลยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคู่รัก ไม่ว่าจะงาน เงิน เทคโนโลยี แถมเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันยังน้อยลงไปอีกด้วย สิ่งนี้ทำให้เห็นเลยว่าการมีคู่ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดีเสมอไป กลับกันจะยิ่งทำให้สุขภาพจิตเสีย ส่งผลไปยังสุขภาพร่างกายในลำดับต่อไป
ถ้าใครมาทักว่าเมื่อไหร่จะแต่งงาน ก็อ้างวิจัยนี้ไปเล้ย!