เวลาพูดคำว่าชนชั้น คน-ในโลกทุนนิยมก็จะบอกว่า ชนชั้นเดี๋ยวนี้มีที่ไหน ทุกวันนี้เราอาจจะไม่ได้มีการกำหนดชนชั้นอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนในยุคก่อนหน้า และดูเหมือนว่าใครๆ ก็สามารถเลื่อนชนชั้นทางสังคมได้ แต่เชื่อเถอะว่า เราทุกคนต่างรู้อยู่ในใจว่า โลกเสรีที่เราอยู่ทุกวันนี้ มี “กำแพงทางชนชั้น” บางอย่างกางกั้นอยู่
และความรักนี่แหละ ที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการก้าวข้ามกำแพงทางชนชั้น
ถ้าเรามองโลกของงานเขียนในฐานะดินแดนแห่งความฝัน เป็นโลกที่มนุษย์เราวาดฝันขึ้นจากโลกแห่งความจริงอันโหดร้าย ในนวนิยายแนวโรมานซ์ แนวรักๆ ทั้งหลาย ล้วนมีประเด็นรักข้ามชนชั้นเป็นแกนกลางของเรื่องทั้งสิ้น นึกภาพนิยายที่กลายมาเป็นละครในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่พูดถึงความรักของชายหนุ่มชั้นสูงกับหญิงสาวต้อยต่ำ จากรักข้ามฐานันดรแบบอดีต พอมาเป็นละครช่องเจ็ดก็มักจะว่าด้วยความรักของสาวธรรมดากับเจ้าของกิจการพันล้าน แม้แต่ในการแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ประเด็นเรื่อง “เงิน” ก็มักจะเป็นปมปัญหาสำคัญในความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอก
ในหนังในละครมักจะส่งสาส์นถึงเราว่า นี่ไง “ความรักชนะทุกอย่าง” แต่ถ้าดูดีๆ สุดท้ายแล้วเมื่อเรื่องราวคลี่คลาย นางเอกจากชนชั้นต้อยต่ำก็มักจะกลายเป็นนางซิน เป็นดาวพระศุกร์ที่มีมรดก มีฐานะเท่าเทียม เผลอๆ มากกว่าพระเอกไปอีก แปลว่าลึกๆ แล้ว ความรักข้ามชนชั้น ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง
“ชนชั้น” ในศตวรรษใหม่
เดี๋ยวนี้เราไม่มีสถานะมากำหนดชนชั้นอย่างชัดเจนเหมือนในยุคก่อนหน้า แต่ดูเหมือนว่า การทำงานของชนชั้นจะมีการแบ่งแยกในระดับที่ซับซ้อนแนบเนียนกว่าการแปะป้ายลงไปซะอีก
การระบุชนชั้นเป็นสิ่งที่ระบุให้รูปธรรมได้ยาก ในบางประเทศมีการแบ่งด้วยอาชีพว่าเป็นชนชั้นกลาง-คนทำงานคอปกขาว หรือเป็นคนทำงานระดับแรงงาน-คนงานคอปกฟ้า แต่การแบ่งด้วยอาชีพก็ดูจะยุ่งยากไปอีก การแบ่งชนชั้นทางสังคมจึงมักมีการวางเกณฑ์เป็น “สถานะทางสังคม” ประเมินคร่าวๆ ทั้งจากฐานะ รายได้ การศึกษา รสนิยมในการใช้ชีวิต เครือข่ายทางสังคม ไปจนมุมมองในการใช้ชีวิต
แน่นอนว่า เมื่อเราพูดถึงรายได้ การศึกษา ทัศนคติ และรสนิยม ทั้งหมดนี้ ในตัวมันเองมี “ลำดับชั้น” สูงต่ำในตัวเองอยู่เสมอ และความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีสถานะต่างกัน สุดท้ายก็ย่อมส่งผลกับความสัมพันธ์ไม่มากก็น้อย
ภาพโดย : Steve Thomason
สถานะทางสังคม-กำแพงที่ความรักพยายามข้ามไป
ในหนังสือชื่อ The Power of the Past ของ Jessi Streib นักสังคมศาสตร์ พูดถึงการแต่งงานระหว่างคนในชนชั้นกลางและคนในชนชั้นแรงงาน พบว่า คนจากทั้งสองสถานะมีมุมมองในประเด็นสำคัญๆ แตกต่างกัน ตั้งแต่มุมมองในการเลี้ยงลูก การบริหารจัดการเงิน ความก้าวหน้าทางอาชีพ และการใช้เวลาว่าง ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญและมุมมองที่แตกต่างกันนี้ทำให้ความรักข้ามชนชั้นมีประเด็นให้ต้องโต้แย้งและประนีประนอมมากเป็นพิเศษ
ทางสังคมวิทยามีแนวคิดว่าด้วยรสนิยมและทุนทางวัฒนธรรม บอกว่า กระบวนการทางชนชั้นในโลกสมัยใหม่มีการควบคุมอย่างซับซ้อนผ่านประเด็นเรื่อง “รสนิยม” การที่บุคคลคนหนึ่งมาจากฐานะหนึ่ง เช่น เด็กจากครอบครัวชนชั้นกลางก็จะได้รับการหล่อหลอมรสนิยมและการใช้ชีวิตรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่เด็กจากอีกสถานะทางสังคมก็มีการใช้ชีวิตและมุมมองต่อโลกไปอีกอย่าง คนเดินห้าง ใช้ชีวิตอยู่ในย่านๆ หนึ่ง ย่อมมีโอกาสพบและปิ๊งกับคนที่เดินซื้อของอยู่อีกโซนหนึ่ง
พูดอย่างสรุป ด้วยรสนิยมและไลฟ์สไตล์ ทำให้ “คนแบบเดียว-จากสถานะใกล้เคียงกัน” มีแนวโน้มที่จะพบปะและสานสัมพันธ์กันได้มากกว่า จากการมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน มีรสนิยมและการมองโลกเหมือนๆ กัน
ภาพจาก : SBS
โลกเรามักจะเล่นตลกกับเราเสมอ หลายครั้งที่โลกมักจะเหวี่ยง “คนที่ใช่” ทุกอย่าง แต่ในความใช่ทุกอย่างก็อาจจะมีความต่างบางอย่างที่แสนสำคัญ เช่น ฐานะที่ต่างกัน เข้ามาในชีวิต บ่อยครั้งที่บทเรียนในละคร-การปรับตัวเข้าหากันไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ ในโลกแห่งความจริง การไปสมาคมกับคนที่มีฐานะ มีไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว จะกิน จะอยู่ จะเที่ยว ทั้งหมดต่างถูกกำหนดด้วยรายได้ และทั้งหมดนี้แหละที่เราเรียกมันว่า “ความเหมาะสม”
อันนั้นแค่ด่านแรก การเดท การเปลี่ยนวงสังคม แล้วถ้าความสัมพันธ์ก้าวไปไกลขึ้น ทั้งลงหลักปักฐาน ความมั่นคงในชีวิต ไปจนถึงการเลี้ยงดูทายาท เส้นทางความรักข้ามชนชั้นดูจะเต็มไปด้วยความท้าทายในทุกย่างก้าว
ในทางวิชาการบอกว่า จริงๆ ความต่างของสถานะก็มีผลบ้างกับการหย่าร้าง บางงานวิจัยเช่นวิทยานิพนธ์จาก University of Hawaii ก็ยังบอกว่าไม่สามารถยืนยันได้ว่าสถานะทางสังคมส่งผลกับการหย่าร้างจริงหรือไม่ แต่ว่าแง่หนึ่ง ในความรักความสัมพันธ์ การจัดการความแตกต่างถือเป็นปัจจัยหลักของความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ความแตกต่างทางชนชั้นแค่ดูจะเป็นความสัมพันธ์ที่มีเงื่อนไขให้จัดการมากหน่อยเท่านั้นเอง
ถ้าความรักข้ามสถานะมันง่าย เราคงไม่รู้สึกว่าดูละคร ดูหนังแล้วสนุกหรอกเวลาที่ความรักนั้นสัมฤทธิ์ผล ในทางกลับกัน ชีวิตก็ไม่ได้เหมือนในละคร