ความสูญเสียเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องที่มนุษย์เราไม่สามารถเลี่ยงได้เช่นกัน แน่นอนว่าการสูญเสียคนรักไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือคนรอบข้างย่อมทำให้เกิดความเศร้าเสียใจ ซึ่งบางครั้งหากไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ดังกล่าวได้แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน วันนี้เราจึงขอนำวิธีรับมือกับความสูญเสียมาฝากค่ะ
1.ร้องไห้ออกมา
ในห้วงเวลาแห่งความทุกข์ใจนี้ การร้องไห้เพื่อระบายย่อมเป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกเบาลงได้บ้าง บางคนอาจอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถร้องไห้ให้ใครเห็นได้เพราะต้องเข้มแข็งเพื่อคนรอบข้างที่ยังอยู่ หรือกรณีที่ผู้สูญเสียต้องดูแลผู้ป่วยจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งไม่สามารถแสดงความทุกข์ใจต่อหน้าผู้ป่วยได้ ดังนั้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นย่อมมีทั้งความเครียด ความอัดอั้น ความกดดันต่างๆ แทรกอยู่ในความเสียใจด้วย ดังนั้นการร้องไห้จึงเป็นวิธีระบายความทุกข์วิธีหนึ่งซึ่งทำให้อารมณ์ด้านลบต่างๆ เบาลง
2.เขียนโน้ตลำดับเรื่องราวที่ต้องจัดการทีละขั้นตอน
เนื่องจากผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก การลำดับความคิดนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ยิ่งหากเป็นการสูญเสียหัวหน้าครอบครัวผู้สูญเสียจะยิ่งรู้สึกเคว้งคว้างเมื่อต้องจัดการสิ่งที่ตามมาพร้อมความสูญเสียด้วยตนเอง เมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสิ่งที่ตามมาคือการจัดการธุระต่างๆ ของผู้จากไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร หรืองานศพ ดังนั้นหากคิดอะไรได้ให้จดไว้ก่อน และลองลำดับความเร่งด่วนของแต่ละเรื่อง หากมีสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ให้ช่วยกันคิดและตัดสินใจ ซึ่งเป็นการไม่ให้คนใดคนหนื่งแบกภาระความรับผิดชอบมากจนเกินไป
3.จัดการความโศกเศร้าในจิตใจ
หลังงานศพเสร็จสิ้นจะเป็นช่วงที่ผู้สูญเสียรู้สึกเคว้งคว้าง และเกิดความเหงา เศร้ามากที่สุด เนื่องจากต้องกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมที่ผู้จากไปเคยอยู่ หรือเคยใช้เวลาต่างๆ ร่วมกัน ช่วงนี้ความทรงจำต่างๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกข์ใจมากยิ่งขึ้น หากรู้สึกว่าไม่พร้อมกับการอยู่ตรงที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ให้ออกไปพักผ่อนที่อื่นสักพัก อาจออกไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัดบ้าง แต่ไม่ควรไปอยู่ที่อื่นนานจนเกินไป เพราะสุดท้ายแล้วถ้าผู้สูญเสียยังต้องกลับมาใช้ชีวิตที่เดิมเมื่อกลับมาจะยิ่งทำให้รู้สึกเสียใจเนื่องจากยังไม่ได้ปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้ผู้สูญเสียต้องเริ่มทำใจใหม่อีกครั้ง ดังนั้นการยอมรับความจริงจึงเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดหากสภาวะจิตใจยังไหว
4.ปรับการใช้ชีวิตในวันที่คนที่รักจากไปแล้ว
การปรับตัวเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตต่อไปได้ ในครอบครัวที่สูญเสียเสาหลักแน่นอนว่าจะต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะอาจต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ที่ผู้จากไปเคยรับผิดชอบ ใส่ใจคนที่ยังอยู่ให้มากขึ้น พูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ไม่เก็บตัวหรือใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้คิดฟุ้งซ่านได้ ตั้งเป้าหมายในชีวิตเพื่อไม่ให้การใช้ชีวิตแต่ละวันว่างเปล่าจนเกินไป ลองทำสิ่งใหม่ๆ บ้าง และอย่าลืมรับผิดชอบหน้าที่การงานของตนเอง
5.เวลาจะช่วยเยียวยาจิตใจ
เมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกต่างๆ จะเบาบางลงตามกาลเวลา และวันหนึ่งผู้สูญเสียจะยิ้มให้กับความทรงจำต่างๆ โดยอาจมีน้ำตาแห่งความรักความคิดถึง แต่ไม่มีความทุกข์ใจอีกต่อไป
ความสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากเราสามารถรับมือกับความเศร้าเสียใจจากเหตุการณ์สูญเสีย ก็จะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและเข้าใจความเป็นไปของชีวิตมากยิ่งขึ้นค่ะ