“อกหัก ไม่ยักกะตาย” หลายคนเชื่อว่า แม้ว่าเราจะผิดหวังในความรัก เราก็ยังมีชีวิตอยู่รอดได้ ไม่จำเป็นต้องเศร้าโศกเสียใจจะเป็นจะตายขนาดนั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าในทางการแพทย์ มีโรคที่ชื่อว่า “โรคอกหัก” อยู่จริงๆ และความทรมานที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้คิดไปเองด้วย
“โรคอกหัก” คืออะไร?
โรคอกหักที่ถูกเรียกกันเป็นชื่อเล่นนั้น จริงๆ แล้วมีชื่อเรียกเต็มๆ ตามที่ทางการแพทย์เรียกกันว่า Stress induced cardiomyopathy หรือ apical ballooning syndrome แต่หากเป็นชื่อเรียกให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ ก็คือ Broken heart syndrome หรือภาษาไทยคือ โรคอกหัก
ถ้าเป็นทางการแพทย์ญี่ปุ่นจะเรียกว่า Takotsubo cardiomyopathy โดยที่ Tako หมายถึง ปลาหมึก Tsubo หมายถึง เครื่องมือลักษณะคล้ายขวด เป็นชื่อเครื่องมือของชาวญี่ปุ่นในการจับปลาหมึก พบครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น โรคนี้ถูกนิยามโดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี 1991 ตั้งชื่อนี้เพราะว่าอาการของโรคนี้ ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายมีรูปร่างคล้ายเครื่องมือดังกล่าว และส่งผลให้มีการทำงานของหัวใจด้านล่างซ้ายผิดปกติ
สาเหตุของโรคอกหัก
โรคอกหักเกิดขึ้นได้จากความเครียดจากทางกาย และจากอารมณ์ ความผิดหวังอย่างรุนแรง การเสียชีวิตของคนรัก ความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทางจิตใจ หรือการได้รับยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ยาเสพติดต่างๆ
พบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตรา 7:1 และพบในคนเอเชียราว 8% ในคนยุโรป 1.5%
ตัวอย่างความเครียดที่อาจทำให้เกิดโรคอกหักได้
ทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรงกันคนรัก
ได้รับข่าวร้าย เช่น การจากไปของคนรัก การทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง
สตรีวัยหมดประจำเดือน ที่ฮอร์โมนเพศหญิง หรือเอสโตรเจน หมดไป
ความเครียดสะสมเป็นเวลานานหลายปี
อาการของโรคอกหัก
อาการของโรคอกหัก คล้ายกับโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หน้ามืดจากฮอร์โมนความเครียด (Catecholamine, Epinephrine หรือ Adrenaline กับ Norepinephrine) จนทำให้หัวใจห้องซ้ายล่างบีบตัวผิดปกติ เป็นรูปร่างคล้ายขวดจับปลาหมึกของญี่ปุ่น
การรักษาโรคอกหัก
เนื่องจากอาการของโรคอกหัก จะเกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวน้อย ในบางรายหัวใจอาจบีบตัวเพียง 20% ของการบีบตัวของหัวใจตามปกติ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการค่อยๆ ประคับประคองการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติไปเรื่อยๆ เหมือนการรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
ติดตามดูสัญญาณการเต้นของชีพจร
ให้ยา เช่น ACE inhibitors, beta blockers หรือยาขับปัสสาวะร่วมด้วย
หากหัวใจล้มเหลว ต้องมีการกู้ชีพ ปั้มหัวใจทันที หรืออาจต้องใช้อุปกรณ์เข้าช่วย
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้ หัวใจห้องล่างซ้ายจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 เดือน อาการเหล่านี้มักจะเป็นชั่วคราวและหายดีเป็นปกติได้ ถ้าได้รับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญทันท่วงที แต่หากไม่ได้รับการดูแลอบ่างทันท่วงที และมีอาการรุนแรงมาก อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
การป้องกันโรคอกหัก
โรคอกหักมีสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างชัดๆ มาจากความเครียด ดังนั้นควรพยายามทำใจให้สงบ เมื่อรู้ว่าเริ่มมีความเครียด ให้รีบหาทางผ่อนคลาย วางมือจากสิ่งที่ทำให้เราเครียด แล้วหากิจกรรมที่ตัวเองสนใจทำ ทะเลาะกับคนรักก็พยายามหันหน้าพูดคุยกันด้วยความใจเย็น หากเสียใจจากการจากไปของคนรัก ก็ให้อยู่กับครอบครัว กับเพื่อนให้มากๆ อย่าเอาตัวเองจมอยู่กับความทุกข์ และอย่าลืมรักษาสุขภาพร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หอบแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที