มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความรักที่จะคงอยู่กับเราไปชั่วนิรันดร์ แต่น่าเสียดายที่บางครั้งความรักของคนเราก็ต้องจบลงอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหลายครั้งมันก็มีสาเหตุมาจากการเร่งรีบจนเกินไปในความสัมพันธ์เหล่านั้น
ความรักทำให้คนเราพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่บางครั้งมันก็ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดสติ และเผลอทำอะไรไปโดยไม่ไตร่ตรองให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะกลัวว่าจะสูญเสียคนรักหรือกลัวว่าท้ายที่สุดจะต้องอยู่เพียงลำพัง ซึ่งจริงๆ แล้วความรักที่ดีนั้นไม่ควรเร่งรีบ แต่ควรรอให้ถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมเองจะดีกว่า และนี่คือ 6 หลักการทางจิตวิทยาที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การเร่งรีบจนเกินไปในเรื่องของความรักนั้นไม่ใช่สิ่งที่ให้ผลดีเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่รักที่แต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อยหรือยังไม่ได้ทำความรู้จักกันให้ดีก่อน
ความรักของคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ว่าจะด้วยวัยหรือวุฒิภาวะ คือสิ่งที่ช่วยให้คนๆ นั้นพัฒนาขึ้นไม่ใช่แย่ลง เพราะทั้งสองฝ่ายจะต้องช่วยเหลือและสนับสนุนกันไปในทางที่ดีขึ้น และทั้งคู่ก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัวและปรับปรุงตัวเอง
การใช้ชีวิตคู่คือการอยู่เคียงข้างกันเสมอไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข และเมื่อมีปัญหาก็ควรที่จะร่วมกันแก้ไขและหาทางออก ไม่ใช่คิดแต่ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกหรือเอาแต่พยายามหาทางหนีไปจากช่วงเวลาแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้น
ความรักคือการรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายและเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปด้วยกัน นิสัยอยากเอาชนะเป็นการแสดงความรักแบบเด็กไร้เดียงสา ส่วนความรักของคนที่โตแล้วคือรักที่มีทั้งความอดทนและการยอมรับในเหตุผลของกันและกัน
การมีความรับผิดชอบคือการแสดงออกถึงความเป็นผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับเรื่องราวของความสัมพันธ์ ที่คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ควรมีความรับผิดชอบต่อทั้งความรู้สึกและสถานะของอีกฝ่ายให้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่สนใจแค่ความสะดวกและความสบายใจของตนเองเป็นหลัก โดยไม่แคร์ว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกหรือต้องการอะไร
ความรักคือการเชื่อใจและเคารพในวิถีชีวิตหรือการตัดสินใจของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ รักที่ดีไม่ใช่การเอาชนะหรือแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอีกฝ่ายตลอดเวลา แต่ต้องให้พื้นที่ส่วนตัวและเคารพความต้องการของคนที่เรารักด้วย
เรื่องผิดพลาดและความผิดหวังนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตของคนเรา แต่ในเรื่องของความรักเราไม่ควรเอาแต่โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ควรที่จะสนใจความรู้สึกของทั้งสองคนเป็นหลัก และช่วยกันแก้ไขปรับปรุงตัว